<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ผู้ร่วมก่อตั้ง Bitkub ชี้ “ในอนาคตดาราเช่นอั้ม พัชราภา จะสามารถ Tokenize ชื่อเสียงได้”

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปัจจุบัน ถึงแม้เราจะเริ่มเข้าสู่ในยุคดิจิทัล แต่อะไรหลาย ๆ อย่างก็ยังคงมีข้อจำกัดไม่สามารถแปลงสภาพให้อยู่ในรูปแบบดจิทัลหรือออนไลน์ได้อยู่ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตในตอนนี้ยังมีขีดจำกัดอยู่ แต่หลังจากที่ Blockchain ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน มันได้เริ่มเข้ามาปลดล็อคศักยภาพ ทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างในโลกของเราอยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างแท้จริงแล้ว

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีงาน Fintech Challenge: The Discovery 2018 ที่จัดโดย ก.ล.ต. และสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นงานที่เผยแพร่ความรู้ด้านฟินเทคให้กับผู้ประกอบการชาวไทย ทั้งมุมมองในอนาคต และในแง่มุมด้านกฎหมายสำหรับประเทศไทย

งานดังกล่าวมีเหล่าผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีประสบการณ์กับเทคโนโลยีนั้นโดยตรงมาให้ความรู้ เช่น ดร.การดี เลียวไพโรจน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งของ ICORA, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Bitkub, นายวัชระ เอมวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง SIX Network, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอื่น ๆ อีกมาก

Tokenization

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Bitkub เว็บเทรดคริปโตในไทย ได้ชี้ให้เห็นศักยภาพของ Blockchain ว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีผลักดันให้สินทรัพย์ในโลกสามารถแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลได้

“World Economic Forum ได้ประมาณการณ์ว่าภายในปี 2025 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งโลกจะอยู่ใน Blockchain เพราะฉะนั้นเราจะ Digitalize ได้หลายอย่างมากขึ้นไม่ใช่หยุดแค่ตราสารหนี้, หุ้น, เพชร หรือทองอีกต่อไป”

เขาได้กล่าวในขณะขึ้นพูดในงานว่า ต่อไปโลกเราจะพัฒนาไปจนถึงยุคที่คนเราสามารถแปลงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ด้วย เช่นชื่อเสียง เป็นต้น   

“ในปัจจุบัน เรารู้หรือไม่ครับว่า ชื่อเสียงของดาราเช่น อั้ม พัชราภา หรือนักฟุตบลอชื่อดังอย่างนาย Cristiano Ronaldo นั้นมีมูลค่าเท่าไร ในอนาคตเราจะสามารถทำให้ชื่อเสียงเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบดิจิทัลหรือโทเคนได้แล้ว (Tokenization)”

นอกเหนือจากการแปลงสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้วเทคโนโลยี Blockchain ยังทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย

“พอ Blockchain มันมา มันได้สร้าง Business Generation ใหม่ขึ้น ต่อไปจะมีบริษัทที่ทำงานด้วยตัวมันเองได้แล้วเรียกว่า Decentralized Autonomous Organization หรือ DAO ไม่จำเป็นต้องมี CEO, นักการตลาด และนักการบัญชีแล้ว”

ความท้าทายในประเทศไทย

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ขาดไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงเรื่องกฎหมาย ซึ่งมีช่วงที่ก.ล.ต. ได้เปิดให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญในวงการนำเสนอว่าประเทศไทยยังติดปัญหาเรื่องไหนอยู่ ในมุมมองของนวัตกรรมใหม่

นายวัชระ เอมวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง SIX Network ได้ออกมาเผยว่า ปัญหาสำหรับวงการ Blockchain ในประเทศไทยคือ ความที่ Blockchain นั้นสามารถประยุกต์ได้หลายอุตสาหกรรม ทำให้ต้องเดินเรื่องไปคุยกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเกิดความยากลำบากในการดำเนินการ เขาเลยแนะนำให้มี Sandbox สำหรับการลองผิดลองถูกก่อนที่จะนำมาใช้จริง จะได้รู้ว่าควรมีกระบวนการอย่างไร

นอกเหนือจากประเด็นด้านกฎหมายแล้ว นายวัชระ ได้ชี้อีกด้วยว่า การที่ไทยจะเริ่มยอมรับ Blockchain นั้นโปรเจกต์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีกลไกของโทเคน (Token Economy) ให้น่าดึงดูดมากพอเสียก่อน ที่จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า อยากมาใช้ เพราะว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง และควรแก้ปัญหาในการใช้งานให้เรียบง่ายขึ้นเสียก่อน เช่น การใช้งาน Wallet ต้องจำ Private Key ตลอด ซึ่งไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก

นายจิรายุส ก็ได้อธิบายในเชิงเปรียบเทียบด้วยการยกตัวอย่างว่า ตอนนี้เราอยู่ที่เกาะ Physical World และเกาะที่เรากำลังจะไปคือ Digital World จะทำอย่างไรให้คนจากเกาะโน้นย้ายมาเกาะนี้ได้

Cryptocurrency คือสะพานที่เชื่อมทั้งสองเกาะเข้าด้วยกัน และนอกจากการมีสะพานแล้วก็ต้องมีสะพานที่แข็งแกร่ง, ข้อดีที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ย้ายมาเกาะนี้แล้วมันดีกว่ายังไง พร้อมทั้งมีแผนที่ ซึ่งก็คือการให้ความรู้ผู้คนว่าจะสามารถเดินทางไปยังอีกเกาะได้อย่างไร”

ภาครัฐและ Blockchain

เมื่อพูดถึง Blockchain คนส่วนใหญ่จะคิดถึงรายย่อย และภาคเอกชนเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือ ภาครัฐเองก็เป็นอีกฝ่ายที่สามารถนำมาใช้ยกระดับประเทศได้เช่นกัน

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งของ ICORA ได้แนะนำว่า ควรที่จะใช้ Blockchain เข้ามาทำให้ประชาชนสามารถทราบได้ว่า เงินภาษีที่พวกเขาจ่ายไปนั้นไปอยู่ที่ไหน

“มันจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนในประเทศจากเดิมว่า ไม่อยากจ่ายภาษี กลายเป็นอยากจ่ายภาษี เพราะว่าจะสามารถติดตามได้อย่างชัดเจนว่าการจ่ายภาษีของเรานั้นได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าไร นำไปพัฒนาประเทศในส่วนไหน”

ถึงแม้เรื่องเกี่ยวกับการเงินและฟินเทคจะดูเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวลเท่าไรนัก แต่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่าจริง ๆ แล้วไทยเรานั้นยังมีช่องทางให้แก้ปัญหาอีกมาก

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สถาบันการเงินมีรายได้มากที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับ GDP ประเทศ ในขณะที่ต่างประเทศมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยังมี Pain Point อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่อีกมาก”

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น