<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เทคโนโลยี Blockchain จะถูกนำมาใช้เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างไร

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

หมอกจาง ๆ และควันในตอนเช้า ๆ ที่ปกคลุมกรุงเทพมหานคร และเมืองอีกหลาย ๆ เมืองที่พวกเรากำลังกลัวนั้น คือฝุ่นและควันพิษที่กำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับคนเกือบทั้งประเทศไทย ทว่าหากลองพูดถึงในแง่ของการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น Blockchain และ cryptocurrency มาช่วยลดปัญหาฝุ่นที่มีขนาดเล็กถึง 2.5 Particulate Matters ที่สามารถแซกซึมเข้าปอด, เส้นเลือด และสมองของเราอย่างง่ายดายนั้น จะทำได้อย่างไร และแนวคิดดังกล่าว จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ในทางทฤษฎีและปฏิบัติ

ฝุ่นขนาดเล็กที่ว่านี้ เกิดจากการสร้างมลภาวะในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจของ Greenpeace นั้น ฝุ่นส่วนใหญ่เกิดจากการเผาถ่านหินของโรงงานไฟฟ้า และการใช้รถเพื่อการคมนาคม

กระนั้นหากดูจากสถิติของหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเหตุการณ์การก่อตัวของ “หมอกพิษ PM 2.5” นั้นมักจะพบว่ามันมักจะเยอะขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งก็คือเดือนธันวาคมและมกราคม หลังจากนั้นก็จะลดลงเรื่อย ๆ โดยกราฟด้านล่างจากนายสุพัฒน์ หวังวงศ์พัฒนานั้นเผยให้เห็นถึงสถิติของปีเก่า ๆ ที่มีอัตราฝุ่นที่เยอะไม่แพ้กัน และมักจะเกิดในช่วงเวลาที่กล่าวมา

แม้ว่าอัตราการปล่อยควันพิษของกรุงเทพฯนั้นดูเหมือนจะคงที่เป็นประจำทุกวัน แต่สิ่งที่ทำให้ฝุ่นเหล่านี้ก่อตัวสะสมไม่ไปไหน จนสร้างความอันตรายได้นั้นเกิดจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า temperature inversion หรือการกลับตัวของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว หากดูภาพด้านล่าง จะเห็นว่าทางรูปซ้าย คือสภาพชั้นบรรยากาศที่ปกติ ที่อากาศอุ่นนั้นจะอยู่ที่ชั้นล่างสุด จากผิวพื้นดิน และไล่ขึ้นไปจะเป็นชั้นบรรยากาศที่มีอากาศที่เย็นลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ สภาพชั้นบรรยากาศในแบบที่ว่านี้จะทำให้มีการถ่ายเทฝุ่นออกไปได้ตามปกติ อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์สัญชาติปากีสถาน นาย D. Raghunandan

แต่ทว่าในฤดูหนาวนั้น จะมีการเกิดการ Inversion effect ขึ้นมา ที่จะเป็นการสลับชั้นกันระหว่างชั้นบรรยากาศล่างสุด กับชั้นบรรยากาศตรงกลาง ส่งผลทำให้อากาศที่อุ่นกว่า อยู่สูงขึ้นไปอีก และด้วยเหตุนั้นเอง ทำให้ชั้นบรรยากาศที่อุ่นนี้ ทำตัวเป็นเหมือนโดม คอยกักขังไม่ให้ลม, ฝุ่น และควันสามารถออกไปจากชั้นบรรยากาศด้านล่างสุดได้

ทีนี้ เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุหลัก ๆ แล้ว การไปจะแก้ไขปรากฎการณ์ทางธรรมชาตินั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ทางแก้ที่ง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้นที่ต้นเหตุของสารพิษเหล่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือว่า เราจะนำเอาเทคโนโลยีอย่าง Blockchain มาใช้เพื่อลดการเกิดมลพิษเหล่านี้ได้อย่างไร

ระบบแรงจูงใจกับเหรียญ Token

Bitcoin มีระบบ incentive หรือการสร้างแรงจูงในการที่จะให้ผู้คนนับพันนับหมื่นยังคงยอมจ่ายค่าไฟ, ทนความร้อน และลงทุนซื้อเครื่องขุดราคาแพงหูฉี่มา เพื่อให้พวกเขาได้เป็น “ผู้ยืนยันธุรกรรม” บนระบบ blockchain ในแบบที่ไม่ต้องไปขอร้องใครให้ทำ

มันคือระบบ ecosystem ที่สมบูรณ์แบบ และสามารถทำงานอยู่ได้โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ และทุกคนทำมันด้วยความสมัครใจ เพราะพวกเขารู้ว่าปลายทางจะได้รางวัลจาก block reward ที่หอมหวาน บางทีระบบนี้อาจจะเหมาะกับการนำมาปรับใช้เพื่อลดมลภาวะ

แรงจูงใจเพื่อเลือกที่จะใช้พลังงานที่สะอาด

หากยังจำกรณีของ Power Ledger ได้นั้น ระบบ incentive ของพวกเขาคือการให้ผู้คนทั่วไปสามารถนำเอาพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่เหลือใช้จากการสร้างเอง (เช่นจากแผงโซลาร์ หรือกังหันลม) มาขายเพื่อแลกเหรียญ POWR และสามารถนำเหรียญดังกล่าวไปเก็งกำไรต่อ หรือไปขายแลก ETH และแลกเป็นเงินจริงในภายหลังได้ ซึ่งทำให้ผู้คนต่างก็สนใจที่จะหันมาเลือกผลิตและใช้พลังงานสะอาดอย่าง solar cell เอง ทดแทนพลังงานสกปรกที่ได้จากโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน

“หากต้นเหตุมลภาวะนั้นมาจากการเผาถ่านหินเพื่อพลังงานไฟฟ้า และรัฐบาลมองสุขภาพและความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง การอนุญาตให้ผู้คนสามารถใช้พลังงานทางเลือกได้เอง อาจช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สกปรกได้ และอาจไม่จำเป็นต้องใช้มันได้เลยในท้ายสุด”

ลองจินตนาการว่าบ้านทุก ๆ หลังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง หากวันไหนหมด หรือผลิตไม่ทัน ก็ใช้เหรียญ POWR เพื่อซื้อไฟฟ้าจากตลาด P2P ของคนอื่นมาใช้ อยากใช้เท่าไรก็จ่ายเท่านั้น ลองนึกภาพที่บ้านทุกหลังเลือกใช้พลังงานสะอาด และไร้ซึ่งโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เราจะสามารถลดมลภาวะจากการเผาถ่านไปได้มหาศาล

แรงจูงใจเพื่อเลือกที่จะไม่ใช้พลังงานสกปรก

ปัจจุบัน มลภาวะจากการคมนาคมด้วยพลังงานเชื้อเพลิงเผาไหม้นั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิด PM 2.5 ทุก ๆ วันผู้คนนำเอารถส่วนตัวของพวกเขาไปติดในระบบการจราจรที่แออัดของกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นระบบขนส่งมวลชนทางถนนอย่างเช่นรถบัสอายุการใช้งานกว่า 50 ปีนั้นยังคงปล่อยควันดำจากน้ำมันดีเซล์จนเป็นเรื่องปกติ

บางทีการนำเอาระบบ incentive มาใช้เพื่อลดมลภาวะเหล่านี้อาจเป็นไปได้ในทางทฤษฎี หรือปฏิบัติ (หากมีคนลองทำจริง ๆ)

ลองจินตนาการถึงแพลทฟอร์มที่สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้คนแบบสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงานของสุขภาพ, การเดินทาง, การใช้ชีวิตประจำวัน และอื่น ๆ โดยผู้คนที่ยอมให้ข้อมูลต่อผู้เก็บนั้น สามารถขายข้อมูลของตัวเองเพื่อนำมาแลกกับเหรียญโทเค็น และนำมันไปเก็งกำไร หรือขายต่อในตลาดได้ไม่ต่างจาก POWR

หากแพลทฟอร์มที่ว่านี้ เน้นไปในด้านการลดการใช้พลังงานสกปรก เราอาจจะได้เห็นการสร้างอุปกรณ์ tracker ที่ติดข้อมือของผู้ที่ยอมให้ข้อมูล และเลือกที่จะเก็บข้อมูลอย่างเช่น

  1. อัตราการเต้นข้องหัวใจ
  2. การเดินทางในแต่ละวัน
  3. สถานที่ ๆ เดินทาง
  4. พฤติกรรมในการเดินทาง
  5. ยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง

โดย service provider สามารถที่จะรณรงค์ให้ผู้ที่ติดอุปกรณ์ tracker ไม่เลือกใช้พลังงานสกปรกด้วยการ “ขุด” เหรียญ token หากพวกเขาเลือกที่จะเดิน หรือวิ่ง โดยวัดได้จากอัตราการเต้นของหัวใจ และระยะทางที่เดินทาง ยิ่งอัตราการเต้นของหัวใจยิ่งถี่เท่าไร และไปได้ไกลมากขนาดไหน ก็จะได้ token ที่มากขึ้นเท่านั้น โดย service provider สามารถที่จะนำเอาข้อมูลด้านสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมในการเดินทางเหล่านี้ ไปขายให้กับบริษัทอื่น ๆ เช่นสถาบันวิจัยด้านสุขภาพ, บริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ หรือบริษัทด้านการตลาดอื่น ๆ

ส่วนผู้ที่ติดอุปกรณ์ tracker เหล่านี้ที่สามารถขุดเหรียญ token ที่ว่านี้ได้ ก็จะสามารถนำมันไปขายบนตลาด market place หรือเก็งกำไรต่อไปได้ หรืออาจนำไปใช้เพื่อซื้อบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมรายการอย่างเช่น ฟิตเนส, สระว่ายน้ำ, ร้านกาแฟ, บัตรโดยสาร BTS, MRT หรือแม้แต่บริการนั่งรถแท็กซี่แบบพลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็คที่น่าสนใจนามว่า CarBlock ที่ผู้ใช้งานสามารถที่จะเสียบอุปกรณ์ขุดเหรียญโทเค็นเข้าไปในช่องปลั๊กไฟที่จุดบุหรี่ของรถได้ โดยเครื่องขุดดังกล่าวจะทำการเก็บข้อมูลการเดินทางของรถ เพื่อไปขายให้กับบริษัทพัฒนาและออกแบบ AI สมองกลสำหรับรถยนต์ไรคนขับ ซึ่งเราสามารถนำเอาโปรเจคต์ดังกล่าวมาใช้ดัดแปลง เพื่อให้ใช้กับรถไฟฟ้าได้เท่านั้น โดยจะเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเลิกใช้รถพลังงานน้ำมัน และหันมาใช้รถไฟฟ้าเพื่อขุดเหรียญเหล่านี้มากขึ้น และสามารถที่จะนำไปแลกในตลาด รวมถึงระบบ ecosystem ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

จะเห็นได้ชัดว่าไอเดียเหล่านี้ แม้จะยังเป็นแค่ทฤษฎี แต่หากมีคนพยายามทำขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจมีส่วนช่วยในการลดมลภาวะได้ในระดับหนึ่ง

ระบบการลงโทษของรัฐบาล กับ Blockchain

มาตรฐานในการตรวจสอบควันดำของรถสาธารณะ รวมถึงโรงงานในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะสร้างความฉงนให้กับประชาชน และชาวโซเชียลอย่างมาก

เราได้เห็นรายงานล่าสุดถึงการตรวจไม่พบ รถเมล์ที่ปล่อยมลภาวะควันดำ จากทั้งหมด 141 คัน ทว่ากลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงคลิปหลักฐานของผู้ใช้ถนนที่พบเจอ

ดังที่เราทราบกันดี ว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้นสามารถถูกนำไปใช้เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลแบบ decentralized ทำให้ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้หลังจากที่บันทึกลงไปแล้ว อีกทั้งยังมีความโปร่งใส (ในกรณี public blockchain) หากใครต้องการจะเข้ามาดูข้อมูลก็สามารถที่จะเข้ามาดูได้

หากทางรัฐบาลมีความจริงจังกับเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีงบประมาณมากพอที่จะเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นไฟฟ้าแบบในประเทศจีน พวกเขาสามารถที่จะติดเครื่องดักจับไอเสียเกินมาตรฐานไปที่รถขนส่งมวลชนเหล่านั้นได้ โดยเครื่องที่ว่านี่จะสามารถส่งข้อมูลการปล่อยไอเสียแบบ real-time เข้าใน blockchain และจะไม่มีใครสามารถที่จะเข้าไปแก้ไขข้อมูลเหล่านี้ได้ แม้แต่บุคลากรในกรมข่นส่งก็ตาม ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถที่จะเข้าไปปรับผู้ที่รับผิดชอบได้อย่างสะดวก

หากมีระบบที่ว่านี้ ประชาชนก็สามารถที่จะตรวจสอบได้ ว่ารถคนไหนปล่อยควันดำ และเราจะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกันเรื่องนี้อีก

ปัญหามลภาวะเป็นสิ่งที่ชาวไทยมองข้ามกันมานานหลายปี มันอยู่ตรงนั้นทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่จริงจังกับมัน หากยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป ในอนาคตอากาศบริสุทธิ์อาจมีราคาที่แพงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้แล้วก็ได้

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น