<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เปิดมุมมองอาจารย์ตั๊ม พิริยะ และคุณซานเจย์ “ตลาด Crypto จะเป็นอย่างไรหลังการต่อสู้กับ SEC”

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

หลังจากที่อุตสาหกรรมคริปโตเผชิญฤดูหนาวอันหนักหน่วงมาตลอดปี 2022 นักเทรดและนักลงทุนหลายคนต่างตั้งความหวังว่าปีนี้จะเป็นปีที่ตลาดกระทิงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แต่ทว่าตลาดขาขึ้นกลับมาเยือนปี 2023 ได้เพียงไม่นานนัก เพราะดูเหมือนศึกหนักระหว่างอุตสาหกรรมคริปโตกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินต่อไปอีกสักระยะ

แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในปีนี้คือ การฟ้องร้องเว็บเทรดยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Binance และ Coinbase ซึ่งกำลังถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ฟ้องหลายสิบข้อหา จนทำให้เว็บเทรดทั้งสองนี้นับได้ว่าเป็นสองแพลตฟอร์มแรกที่ถูก SEC ฟ้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว คุณซานเจย์ สัญชัย ปอปลี CEO ของ Cryptomind Advisory และอาจารย์ตั๊ม พิริยะ สัมพันธารักษ์ กูรูคริปโตชื่อดังของไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับทางรายการหนุ่ยทอล์กเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างสนใจเลยทีเดียว ดังนั้นในวันนี้ทางสยามบล็อกเชนจึงจะพาทุกคนมาดูไปพร้อมกันว่าทั้งสองท่านจะมีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่าอย่างไร

ทางด้านของคุณซานเจย์ได้เริ่มต้นด้วยการสรุปเหตุการณ์สำคัญในปี 2023 ที่ส่งผลกระทบต่อราคา Bitcoin ให้เห็นภาพรวมได้ง่ายขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าการฟ้องร้อง Binance ครั้งล่าสุดถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคา Bitcoin อย่างมีนัยสำคัญ

จากนั้นคุณซานเจย์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการของ SEC ตลอดที่ผ่านมาในปีนี้ จะส่งผลให้บริษัทคริปโตในสหรัฐฯ ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งถ้าหากความร่วมมือนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ บริษัทคริปโตหลายแห่งอาจถูกบีบให้ออกจากสหรัฐฯ ในที่สุด

“ถ้าสถานการณ์ของธุรกิจคริปโตที่นั่นยังเป็นแบบนี้ต่อไป ทุกอย่างไหลออกมาจากอเมริกาทั้งหมด อย่าง Coinbase ก็เริ่มมีใบอนุญาตในต่างประเทศแล้ว แต่อย่าง Binance นี่ผมว่าค่อนข้างจะยากหน่อย เพราะ Binance โดนคดีเยอะมาก และหนักมาก” คุณซานเจย์กล่าว

ขณะเดียวกัน คุณซานเจย์ยังได้คาดการณ์ถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับ Binance ไว้ด้วย โดยกล่าวว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด CZ อาจโดนออก Wells notice ไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คุณซานเจย์ยืนยันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น่าจะรุนแรงถึงระดับนั้น

“แต่เขาอาจจะโดนปรับและโดนบีบให้ออกจากอเมริกา แล้ว Binance US ก็ต้องปิดตัวไป” คุณซานเจย์วิเคราะห์

ทางด้านของกูรูคริปโตอย่างอาจารย์ตั๊มนั้น อาจารย์ตั๊มได้มองว่าการฟ้องร้องครั้งใหญ่ของ SEC “ยังไม่เกี่ยวอะไรกัน” กับความเชื่อมั่นของนักลงทุน Bitcoin เพราะ SEC ไม่ได้ระบุว่า Bitcoin เป็นหลักทรัพย์ (Security)

“ดังนั้นนอกเหนือจากราคาร่วงแล้ว Bitcoin ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย” อาจารย์ตั๊มกล่าว

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการฟ้องร้องครั้งนี้ อาจารย์ตั๊มยืนยันว่าจะมี “การพยายามโจมตี” เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถ้า Bitcoin สามารถเติบโตต่อไปจนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดแล้ว Bitcoin จะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสั่นคลอนอำนาจของเงินดอลลาร์ได้

“ในท้ายที่สุดนะ ตอนนี้ยัง” อาจารย์ตั๊มกล่าวเสริม

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการที่ SEC เริ่มระบุรายชื่อเหรียญที่ได้รับการกำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ อาจารย์ตั๊มได้มองว่าการเป็นหลักทรัพย์นั้นอาจจะเป็นเรื่องดีมากกว่าการเป็นเรื่องผิด โดยให้เหตุผลไว้ว่า

“การเป็น Security เนี่ยไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่ใช่สาส์นสั่งตาย การเป็น Security อาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีได้ด้วยซ้ำ มันอาจจะไม่ดีกับธุรกิจในระยะสั้น แต่มันก็คือการเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าความถูกต้องอย่างที่มันควรจะเป็น”

“การเป็น Security เนี่ย ถ้าเราไม่ได้มองทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดอะไร มันก็มีกฎหมายควบคุมอยู่ และในเมื่อมันมีกฎหมายควบคุม คุณต้องอยู่ภายในกฎหมาย แต่ว่ามันก็เป็นแค่ประเทศประเทศหนึ่ง เพียงแต่มันเป็นประเทศมหาอำนาจระดับโลก แค่นั้นเอง”

“ถ้าประเทศอื่นไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งนี้ เขาก็ยังสามารถซื้อขายแบบไม่มีการควบคุมที่อื่นได้ แต่ผมมองว่าถ้าอเมริกาขยับแบบนี้ แล้วคดีนี้สำเร็จ มันจะเกิดผลกระทบไปทั่วโลกเหมือนกัน” อาจารย์ตั๊มอธิบาย

จากมุมมองของอาจารย์ตั๊ม ถ้าหาก SEC คือผู้ชนะในการต่อสู้ทางคดีความในครั้งนี้ ในที่สุดแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยอาจารย์ตั๊มอธิบายว่า

“แม้กระทั่งประเทศไทยเอง เราก็ใช้ต้นแบบร่างกฎหมายจากอเมริกา ถ้าอยู่ ๆ อเมริกาบอกว่า Ethereum, ADA เหรียญต่าง ๆ ที่เขาลิสต์มาเหล่านั้นเป็น Security เราก็มีเหตุผลที่จะมองว่าเหรียญเหล่านั้นเป็น Security เช่นกัน แล้วคราวนี้เราก็ต้องมาดูละว่า Exchange ต่าง ๆ ที่เปิดซื้อขายเหรียญเหล่านี้เป็น Security Exchange หรือเปล่า และเมื่อเหรียญต่าง ๆ เหล่านี้เป็น Security แล้ว เราก็ต้องมาดูว่าเป็น Registered Security หรือเปล่า”

“แตกต่างกับ Bitcoin ซึ่งพอไม่มีเจ้าของ ไม่มีคนรันระบบ ไม่มีการที่ถือ Bitcoin ไว้แล้วจะได้ดอกเบี้ย มันถึงถูกมองว่าไม่มีใครควบคุมได้ ก็จะมีความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวในระยะยาวที่น่าจะสร้างความชัดเจนได้มากขึ้น” อาจารย์ตั๊มกล่าว

ที่มา: beartai