<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สรุปงานแถลงข่าว “JFin” Coin + บทสัมภาษณ์พิเศษกับนายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcoin

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในวันอังคารที่ 30 มกราคม ทางทีมงาน Siam Blockchain ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงานแถลงข่าวสำหรับผู้ลงทุนรวมถึงสื่อมวลชนต่าง ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องการระดมทุนเหรียญดิจิตอล “JFin” ซึ่งเป็นเหรียญสกุลดิจิตอลใหม่ของบริษัท เจ มาร์ท จํากัด (มหาชน) [JMART] และบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด [JVC] โดยในงานนี้มีผู้บริหารจากทั้งบริษัท JMART และ JVC สองท่านมาแนะนำให้ความรู้และข้อมูลว่าด้วยเรื่อง ICO JFin Coin

ที่มาของ JFin Coin และข้อดีของระบบ ICO

หลังจากที่ทางพิธีกรได้กล่าวเปิดงานเป็นที่เรียบร้อย นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ก็ได้เริ่มขึ้นมาพูดคุยถึงเรื่องความเป็นมาของ Jaymart ตั้งแต่ที่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2009 และได้กล่าวถึงบริษัทลูกต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ Jaymart รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าปลีกตั้งแต่ในวันแรกที่เปิดบริษัท โดยเขาได้กล่าวว่า “เมื่อเราได้ก่อตั้งบริษัทตามหนี้แล้วเรียบร้อย เราก็จะตามหนี้ให้กับร้านค้าปลีก” นอกจากนี้เขายังได้กล่าวถึงประสบการณ์ในอดีตในการขาย IPO ของ Jaymart ซึ่งสามารถระดมทุน IPO ผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นจำนวน 629 ล้านบาท

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

เขาได้กล่าวว่า บริษัท เจ เวนเจอร์ส นั้นได้กำเนิดขึ้นมาในปี 2017 เพื่อเป็นการริเริ่มให้ธุรกิจ FinTech ได้เกิดขึ้นในไทยจริง ๆ หลังจากที่ทางบริษัทของตนได้วิเคราะห์ร่วมกับนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ในปัจจุบัน แล้วว่าประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจ FinTech ใด ๆ เลย ณ ตอนนั้น

ต่อมา พวกเขาก็ได้เห็นโอกาสว่า ICO นั้นน่าจะเป็น “tool” ที่จะทำให้บริษัทในเครือ เช่น J Ventures มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นได้ นั่นจึงกลายมาเป็น “ที่มาของ ICO JFin”

นายอดิศักดิ์ได้กล่าวว่า ICO มีข้อดีอยู่หลัก ๆ สองข้อสำหรับผู้ลงทุนก็คือ

1) No dilution : แม้ว่าจำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม กำไรต่อหุ้นจะไม่มีการลดลง และหุ้นจะไม่มีการตกลง

2) No Interest Expense : ไม่มีดอกเบี้ยจึงไม่กระทบกระเทือนผู้ถือหุ้น

ความตั้งใจ

นายอดิศักดิ์ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความตั้งใจของบริษัทในการสร้าง ICO ตัวนี้ขึ้นมาว่า

“เรามีความตั้งใจที่จะให้ ICO นี้มีคุณภาพ แม้ว่าบริษัทเราจะเล็ก แต่ผมกล้ายืนยันว่าเราจะพยายามทำการกำกับดูแลและทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐในทุก ๆ เรื่อง เพื่อให้ ICO ได้เกิดขึ้นมาบนประเทศไทย… มันง่ายมากครับ ถ้าเราจะไปฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ แต่เราอยู่ในเมืองไทย แล้วเราจะตอบตัวเองได้อย่างไรว่าเราจะขับเคลื่อนธุรกิจบนประเทศนี้ผ่าน tools ที่มีคุณภาพได้อย่างไร

ผมเลยอยากให้ทุกท่านลองติดตามว่า ที่บอกว่าดีเนี่ย มันดีขนาดไหน ทั้งหมดนี้เนี่ย ผมเชื่อในเทคโนโลยี และผมก็อยากจะให้คำมั่นสัญญากับหน่วยงานรัฐ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ว่าเราจะเป็นแบบอย่างการทำ ICO ที่มีคุณภาพในประเทศไทย”

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด

ในเวลาต่อมา นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ก็ได้ออกมาพูดคุย ซึ่งเขาได้แยกประเด็นที่เขาจะพูดคุยเป็น 4 ประเด็น:

  1. Back to Basics: (Blockchain, Bitcoin, ICO)
  2. JFinCoin & DDLP
  3. ICO
  4. What’s next before Pre-Sale?

โดยในประเด็น Back to Basics นั้น นายธนวัฒน์ ได้ทำการให้ข้อมูลแบบขั้นต้นที่ครอบคลุมว่า Blockchain, Bitcoin และ ICO คืออะไร เป็นการปูพื้นฐานให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักพวกมันมาก่อนเลย

“เอาแปลง่าย ๆ เลยนะครับ… Blockchain มันเป็นเทคโนโลยีที่เกิดมาเพื่อฆ่าตัวกลาง…”

ข้อดีของระบบ Blockchain

“การลงทุนมีความเสี่ยงนะครับ ทุกเหรียญมีความเสี่ยงทั้งหมดนะครับ อยากให้ไปศึกษา ผมเลยอยากให้ทุกคนมีเวลาตัดสินใจสองอาทิดย์”

“Blockchain มันเกิดขึ้นมาโดยความงง เพราะคนสร้างเขาหน้าตาอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่ามันเก่งมาก รู้แต่ชื่อมัน หน้าก็ไม่เคยเห็น search ในไหนก็ไม่เจอนะครับ”

ต่อมานายธนวัฒน์ก็กล่าวว่า Blockchain มีข้อดีอย่าง 4 ข้อคือ

  1. โปร่งใส โดยทุกธุรกรรมจะถูกบันทึกเก็บหมดในหลาย ๆ ที่
  2. ปลอดภัย เพราะไม่สามารถลบการบันทึกได้
  3. มีประสิทธิผล เป็นระบบที่ไม่ต้องพึ่งพาคนกลางและขับเคลื่อนโดย smart contract
  4. มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประหยัดและลดค่าใช้จ่ายลง

และทาง JFin ได้เผยแพร่ White Paper ให้ทุกคนสามารถศึกษาได้แล้วในตอนนี้

แผนการเพื่อการเป็นบริษัทดิจิตอลแบบเต็มตัว

นายธนวัฒน์ได้กล่าวถึงแผนการที่จะทำให้ Jaymart สามารถให้บริการผ่านระบบ Digital ได้อย่างเต็มรูปแบบว่า

“ผมเชื่อว่าการทำธุรกรรมของ Jaymart ที่เก่งในเรื่องของ consumer, email และก็ banking เนี่ย มีอยู่ 5 มิติด้วยกันที่ต้องทำก็คือ: Credit scoring, มีการวิเคราะห์ Big Data, มีการทำ E-Wallet, มีการทำ Blockchain และก็มีการทำ AI ซึ่งทุกเรื่องเหล่านี้ Hot มาก”

ซึ่งในปัจจุบัน J Ventures และ Jaymart ยังประยุกต์ใช้แค่เพียงหนึ่งมิติ นั่นก็คือ JFinTech เท่านั้น

JFinCoin และ ระบบ DDLP (ระบบสินเชื่อที่ไร้ตัวกลาง)

ต่อมานายธนวัฒน์ ก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับ JFin Coin และระบบ DDLP [Decentralized Digital Lending Platform หรือระบบสินเชื่อที่ไร้ตัวกลาง]

“JFin Coin คือเหรียญที่ถูกสร้างมาในกระบวนการ mechanism ของ ICO เอาไปเพื่อทำระบบ ๆ หนึ่ง ที่เรียกกันว่า DDLP เพื่อให้บริษัท JFinTech สามารถสร้าง ICO ที่มีคุณภาพ”

“Jaymart จะไม่อยู่เพียงที่ประเทศไทยอย่างเดียวแน่นอน”

“เมื่อเราประกาศว่าจะสร้าง ICO ที่มีคุณภาพ เราไม่ได้ตั้งใจแค่จะแข่งขันในเมืองไทย ถ้าเราสามารถระดมทุมสำเร็จ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในบริษัทจะไม่ได้อยู่แค่ในไทย เพราะ ICO ในประเทศข้างบ้านเราพัฒนากันเต็มเลยนะครับ… เราจะรอและให้เขามาพัฒนาแข่งกับเรามั้ยครับ ได้ข่าวว่าในเวียดนาม ลาว ก็มี ICO ขึ้นมาเต็มหมดเลย ระบบ Digital Lending ของบางประเทศเขาพัฒนามากกว่าพวกเราอีก… ปัญหาคือเราจะรอมั้ยครับ… ถ้าผมนั่ง Time Machine ไปยังปี 2020 และประกาศว่า ‘ผมเพิ่งเปิดตัว Digital Lending Platform’ ทุกคนคงมองกันว่ามันมีมาสองปีแล้ว”

“เพราะวันที่ 14 เป็นวันวาเลนไทน์ พวกเราจึงอยากเริ่มขายในวันนั้นเพื่อมอบความรักให้แก่ทุก ๆ คน และพวกเราเลือกที่จะให้ข้อมูลทุก ๆ คนในวันนี้เพื่อที่ทุกคนจะได้มีเวลาสองอาทิตย์ในการศึกษาและตัดสินใจ”

TDAX

และในงานนี้ นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งเหรียญ Zcoin รวมถึงเว็บ TDAX และ Satang ได้ออกมาสาธิตวิธีการสมัครใช้ เว็บเทรด TDAX เพื่อจะได้สามารถซื้อเหรียญ JFin Coin ได้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ซึ่งในวันนั้นจะมีจำหน่ายทั้งหมด 300 ล้านเหรียญ

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Digital Lending และ Blockchain ไม่เกิด?”

ในส่วนของช่วง ถาม-ตอบ มีผู้เข้าร่วมงานได้ส่งคำถามไปว่า “ถ้าหากในกรณีที่แย่ที่สุดที่ Digital Lending และ Blockchain ไม่เกิดขึ้น ทาง Jaymart จะทำอย่างไร”

“มีคนถามเกี่ยวกับกรณีแย่ที่สุด ผมก็ตอบกรณีแย่ที่สุดนะ” นายธนวัฒน์กล่าว “กระบวนการนี้ก็อาจจะไม่เกิด แต่ระบบที่สร้างมามันจะไม่หยุดอยู่กับที่ และไม่มีทางที่มูลค่า 600 กว่าล้านจะร่วงลงเป็น 0 แน่นอน ระบบนี้มีหลาย Function มีทั้ง Big Data, AI รวมถึง E-Wallet ในสุดท้ายแล้ว asset ที่เกิดขึ้นกับองค์กร มันน่าจะไปทำมาหากินในเรื่องอื่นได้ ถ้าหากเกิดกรณีที่แย่ที่สุดขึ้น… สมมุติ Blockchain ไม่เกิดขึ้น ผมจะทำอย่างไรหรอครับ? ผมยังสามารถที่จะพิมพ์ story นี้ และเอาไปขายได้ครับ”

นายธนวัฒน์ได้สรุปว่า Cryptocurrency เช่น Bitcoin และ Ethereum นั้นมี underlying value (มูลค่ารองรับ) มาจากความเชื่อใจของผู้ใช้รวมถึงระบบกลไกต่าง ๆ ภายในแต่ละสกุล ส่วนสำหรับ JFin Coin นั้น นอกจากจะมาจากความเชื่อใจของผู้ใช้ใน Jaymart แล้ว มูลค่ารองรับเหรียญ JFin ก็ยังมาจากระบบ DDLP อีกด้วย

“ถ้ามูลค่าในการกู้ผ่านระบบ JFin นั้นสูงขึ้น ค่าธรรมเนียมและค่าธุรกรรมก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย”

“Cryptocurrency มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการลงทุนทุก ๆ ชนิด”

ทั้งนี้ เหรียญ JFin Coin จะเปิดจำหน่ายเป็น Pre-Sale ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป โดยจะจำหน่ายผ่านเว็บ TDAX เพียงเท่านั้น สามารถศึกษาข้อมูลจาก White Paper ได้แล้วที่นี่

สัมภาษณ์พิเศษกับนายปรมินทร์ อินโสม

นายปรมินทร์ อินโสม ที่ปรึกษา JFin Coin และผู้ก่อตั้งเว็บ TDAX, Satang และ Zcoin

ต่อมาหลังจากที่งานแถลงข่าวนี้ได้สิ้นสุดลง ทางทีมงาน Siam Blockchain ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับคุณปรมินทร์ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ลึกยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ JFin จากมุมมองผู้ของเชี่ยวชาญด้าน Blockchain โดยตรง รวมถึงได้รู้จักเว็บเทรด TDAX มากยิ่งขึ้น

ทีมงาน Siam Blockchain:

มีองค์ประกอบใดของโครงการ “JFin” นี้ที่ดึงดูดให้คุณปรมินทร์มาเข้าร่วมเป็นทีมผู้ปรึกษาให้กับ JFin หรอครับ?

คุณปรมินทร์:

มันเป็น ICO ตัวแรกที่เกิดมาจาก subsidiary (บริษัทลูก) ของ listed company (บริษัทในตลาดหลักทรัพย์) ในไทยตอนนี้ ผมก็เลยมองว่า มันน่าจะเป็นตัวจุดประกายให้บริษัทที่เป็น public company ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หันมาให้ความสนใจมากขึ้น และมันจะเป็นพื้นฐานให้กับตัวต่อ ๆ ไปด้วยครับ

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

ตั้งแต่คุณได้ร่วมมาเป็นผู้ปรึกษาให้ JFin คุณได้ทำอะไรบ้าง และ นำความรู้ด้านใดบ้าง ให้กับทาง JFin หรอครับ?

คุณปรมินทร์:

เนื่องจากผมเชี่ยวชาญในส่วนของตัวบล็อกเชน ดังนั้นด้าน Technical ส่วนไหนที่ผมทำได้ผมก็จะช่วยเต็มที่

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

สามารถซื้อ “JFin” Coin ได้ผ่านทางไหนหรอครับ?

คุณปรมินทร์:

ตอนนี้ยังซื้อได้ผ่านทาง TDAX อย่างเดียวครับ

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

ถ้าผมเกิดอยากจะกู้เงินขึ้นมา แพลตฟอร์ม JFin นั้น จะช่วยเหลืออะไรให้ผมได้บ้าง ซึ่งแพลตฟอร์มอื่น ๆ ยังช่วยไม่ได้?

คุณปรมินทร์:

JFin จะช่วยในเรื่องของการกู้ยืมเงินแบบ peer-to-peer เป็นหลัก แต่ว่ามันก็ขึ้นอยู่กับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้ทำรึเปล่าเมื่อถึงเวลานั้น ซึ่งถ้าธนาคารฟันธงออกมาว่าทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ แต่ว่ายังไงแพลตฟอร์มตัวนี้มันก็ไปใช้ในต่างประเทศได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นระบบ Decentralized คือ run บนอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

แล้วระบบ JFin นี้ สาธารณชนจะใช้งานมันอย่างไรครับ?

คุณปรมินทร์:

ต้องบอกว่าตัว Business Model ที่เขาออกแบบนั้น พยายามที่จะทำให้ตัว JFin coin เป็น Utility Coin (เหรียญ Crypto เพื่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือไม่ก็บริการต่าง ๆ ของเหรียญ) ซึ่งการที่จะถามว่าผู้ใช้จะใช้งานระบบนี้อย่างไร ก็คืออย่างน้อยก็ควรที่จะถือ JFin Coin อยู่ โดยสามารถที่จะซื้อได้จากที่ Exchange หรือได้รับจากคนอื่นที่ให้มาก็ได้

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

ทาง JFin provide ระบบการกู้เงินแบบใดบ้าง?

คุณปรมินทร์:

แบบไหนบ้าง? ยังไม่ถึงรายละเอียดตรงนั้นครับ… แต่อย่างน้อย เริ่มต้นก็น่าจะเป็น B2C (business-to-consumer, จากธุรกิจสู่ลูกค้า) ก่อน เนื่องจากระบบตัวนี้สามารถทำได้เลย เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับทาง ก.ล.ต. อยู่แล้ว ถ้าเป็น B2C นะครับ

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

และทาง JFin แตกต่างจาก SALT (แพลตฟอร์มแนวหน้าที่ให้บริการด้านการกู้ยืมการค้ำประกันด้วยบิทคอยน์และเงินดิจิตอลสกุลอื่นๆ) อย่างไรบ้างครับ?

คุณปรมินทร์:

ไม่เชิงคล้ายนะครับ… คือ รายละเอียดของตัว SALT เนี่ยผมต้องลองดูอีกทีนึง แต่ว่าผมมั่นใจว่าการที่เราออกแบบตัวระบบนี้ขึ้นมา เราได้ดู Lending Platform (แพลตฟอร์มสินเชื่อ) ของ Start-up ที่ทำ ประมาณ 4-5 เจ้าอยู่แล้ว และเรามองว่า ะบบที่เราทำอันนี้มันตอบโจทย์ในประเทศไทย และเข้ากับตัว Business Model ที่เรามีอยู่แล้ว ณ ตอนนี้

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

JFin นั้นคือระบบสินเชื่อแบบบุคคลต่อบุคคลผ่านระบบ Technology “Blockchain” ก่อนที่คุณจะมาเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับ JFin คุณเคยได้มีประสบการณ์อะไรในอดีตในการใช้ “ระบบสินเชื่อ” มั้ยครับ?

คุณปรมินทร์:

ไม่เคยยืมตังค์ครับ… 555

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

คุณปรมินทร์มี Vision อะไรเกี่ยวกับ JFincoin มั้ยครับ และคุณมีความหวังว่ามันจะสร้าง value หรือ function อะไรในอนาคตให้กับสังคมไทย หรือ แม้กระทั่งสังคมโลกในอนาคตบ้างมั้ยครับ?

คุณปรมินทร์:

ผมเข้าใจว่าตลาดกู้ยืมเงินมันเป็นตลาดใหญ่อยู่แล้ว ถ้าเราทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงระบบของเราได้มันก็น่าจะมีผลกระทบในวงกว้างด้วย

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

คุณได้ความรู้อะไรใหม่ ๆ จากการได้ร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นี้บ้างมั้ยครับ?

คุณปรมินทร์:

ต้องบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ regulation (กฎระเบียบ) และก็เรื่องกฎหมาย… ไม่เคยคาดคิดว่ามันจะหนักขนาดนี้ ในเรื่องของการตีความว่าตัว Token คือ Utility Token หรือ Security Token (เหรียญ Crypto เพื่อความปลอดภัย) เนี่ย เป็นอะไรที่ค่อนข้างมีความสำคัญมากๆ เพราะว่าถ้าบอกว่ามันเป็น Utility Token แต่พวกเค้าด้านนั้นมองว่ามันเป็น Security เนี่ย… ก็อาจทำให้เรามีปัญหาได้

เพราะฉะนั้น  regulation จึงเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ครั้งนี้

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

ในการเป็นทีมสำหรับ ICO นี้ คุณได้พบเจออะไรที่คาดไม่ถึงบ้างมั้ยครับ?

คุณปรมินทร์:

เรื่อง White paper ครับ เพราะว่าผมมาจากฝั่งด้าน Technical ผมเลยมองว่า White Paper นั้นเป็นอะไรที่ต้องทำแต่ไม่จำเป็นต้องละเอียดมากและแก้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่พอผมได้มาทำตัวนี้และมีเรื่อง regulation เข้ามาเกี่ยวข้องเนี่ย มันทำให้คำพูดที่ใส่เข้าไปในตัว White paper มันค่อนข้างที่จะ legal binding [มีผลผูกพันทางกฎหมาย] นิดนึง และยิ่งเป็น listed company ด้วยนะครับ มันยิ่งมีความสำคัญขึ้นไปอีก

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

ณ ปัจจุบัน มันยังมีจุดด้อยอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้างไหม?

คุณปรมินทร์:

ตอนนี้ยังไม่มีนะครับ

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

ผมสนใจตรงที่ระบบ JFin จะนำ AI มาใช้ควบคู่กับการดำเนินการมาก แต่โดยเจาะจงแล้วตัว AI นี้จะทำอะไรแทนมนุษย์สำหรับระบบกู้เงินของ JFin หรอครับ?

คุณปรมินทร์:

โดย basic ที่สุด ก็คงทำในส่วนของ Credit Scoring (คะแนนเครดิต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้กระบวนการทางสถิติมาวัดความน่าจะเป็นในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้) ที่เป็นส่วนของพวก Machine Learning โดยใช้พวก Fuzzy Logic (ตรรกศาสตร์คลุมเครือ เป็นวิธีการหาข้อสรุปจากข้อมูลที่คลุมเครือ) มาช่วยได้อยู่แล้ว

แต่ว่าที่ผมมองไว้ในอนาคต คือมันคงใช้ได้มากกว่านั้น โดยใช้ส่วนของ Neural network (ระบบสร้างความทรงจำให้กับตัวคอมพิวเตอร์/A.I.) มาช่วยได้ด้วย แต่ว่าสำหรับ Phase นี้คงเป็น Machine Learning ไปก่อน

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

คุณคิดว่า JFinCoin จะไปได้ไกลแค่ไหนครับ?

คุณปรมินทร์:

ขึ้นอยู่กับคนใช้งานนะ เพราะว่า JFin เนี่ยเป็นตัวระบบ แต่ว่าจะมีคนมาใช้งานหรือเปล่านั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เนื่องจาก JFin เป็น debt collector (ผู้ตามหนี้) และมีคนกู้ยืมเงินอยู่แล้วก็น่าจะมีคนใช้เยอะอยู่

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

การออก ICO JFinCOIN ของ Jaymart นี้น่าจะสร้างความตื่นตัวในเรื่อง Blockchain ให้แก่บริษัทอื่น ๆ หลายแห่งเป็นอย่างมาก ภายในปี 2018 นี้ คุณปรมินทร์ คาดว่าเทคโนโลยี Blockchain จะเติบโตในไทยมากน้อยแค่ไหน?

คุณปรมินทร์:

ที่มองไว้ก็น่าจะ 10% ของ Listed Companies อะครับ ที่อาจมีความสนใจที่จะทำในอนาคต ส่วน volume มีสิทธิ์เพิ่มขึ้น 20 ถึง 30 เท่าภายในปีนี้ครับ

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาคุณพึ่งได้จัด workshop เกี่ยวกับการเทรดและลงทุน Bitcoin ผ่าน TDAX ดูจากปฏิกิริยาโดยรวมแล้วคุณคิดว่าผู้คนให้ความสนใจในงานนี้มากแค่ไหนครับ?

คุณปรมินทร์:

คือ คนที่ไม่เคยเทรดมาก่อนแต่สนใจใน Bitcoin เนี่ย เค้ายังไม่รู้ว่าจะซื้อพวกมันอย่างไร ซึ่งนี่ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับพวกเขา อย่างน้อยก็คือรู้ว่าต้องใช้ TDAX อย่างไร จะไปซื้อหรือขายเหรียญอย่างไร พอเค้าทำตรงนี้เป็นแล้ว การที่จะมาซื้อ JFin Coin หรือ ICO อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต มันจะเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

คิดว่า TDAX นั้นแตกต่างจากแพลตฟอร์มซื้อขายเหรียญแห่งอื่นอย่างไรบ้างครับ?

คุณปรมินทร์:

ในส่วนของตัว TDAX หลัก ๆ จะเป็นที่ตัวระบบความปลอดภัย เนื่องจากผมจบทางด้าน Information Security และทำงานเกี่ยวกับที่อยู่กองทัพ ทางด้านนี้มาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่งเลย ต่อให้ลูกค้าบ่นมาว่าไม่สะดวก แต่ความปลอดภัยจะมาก่อนสำหรับพวกเรา และนั่นก็คือจุดประสงค์หลัก

และคนที่เป็นทีมงาน TDAX เนี่ยก็เป็นคนไทยกันทุกคน ถ้ามีปัญหาอะไรก็ถามเราได้เลยเราไม่หนีอยู่แล้ว สุดท้ายในส่วนของ ICO Portal เราเป็นที่แรกที่ได้ทำแล้วมันก็เกิดขึ้นได้จริง

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

เว็บ TDAX มีจุดแข็งอะไร?

คุณปรมินทร์:

จุดแข็งก็น่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยี เพราะว่ามีการใส่เหรียญที่ไม่มี Exchange ที่อื่นในโลกทำเหมือนกัน เช่น RPX (ICO ที่อยู่บน NEO Platform) ซึ่งเราเป็นผู้คนที่นำเหรียญนี้เข้าไปในระบบเป็นเว็บที่สองในโลก หลังจาก Kucoin ที่ฮ่องกงเพียงเท่านั้น และด้านเทคนิคของเราก็ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่แล้ว

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

และต้องปรับปรุงด้านไหนบ้าง?

คุณปรมินทร์:

ตอนนี้น่าจะเป็นฝ่าย Customer Support ซึ่งเรายังมีพนักงานน้อยอยู่ จริง ๆ เว็บ TDAX เราเพิ่งมีมา 4-5 เดือนเอง

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

คุณได้เรียนรู้อะไรจากการสร้าง TDAX นี้บ้างมั้ยครับ?

คุณปรมินทร์:

ทำ Exchange เหนื่อยกว่าที่คิด…เหนื่อยกว่าทำเหรียญอีก ทำ Zcoin ยังไม่เหนื่อยขนาดนี้เลย

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

คำถามสุดท้ายแล้วนะครับ ในวันศุกร์ที่ผ่านมาได้เกิดการแฮ็กเว็บเทรดในประเทศญี่ปุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 530 ล้านดอลลาร์ คิดว่าในอนาคต ทางเว็บเทรดปท ไทย เช่น TDAX หรือ Bx จะพบเจอปัญหาแบบนี้บ้างมั้ยครับ?

คุณปรมินทร์:

มันเป็นของคู่กันนะครับ มีเงินเยอะก็ต้องมีพวกแฮ็กเกอร์ ซึ่งก็อย่างที่ผมบอกไปแล้ว ด้วยประสบการณ์ที่ผมได้ทำมาแล้ว ผมบอกได้เลยว่าไม่มีระบบ Exchange ไหน ที่ปลอดภัย 100% ไม่มีธนาคารออนไลน์อะไรที่ปลอดภัย 100% เหมือนกัน แต่ด้วยประสบการณ์เราก็สามารถสร้างวิธีว่าจะทำอย่างไรที่จะตรวจจับการแฮ็กได้เร็วที่สุด เพราะก็มีคนพยายามแฮ็กอยู่เหมือนกัน  ซึ่งตรงนี้เนี่ย อย่างน้อยด้วยระบบของ TDAX เราได้ออกแบบให้ระบบการตรวจจับนั้นเร็วที่สุดอยู่แล้ว เช่น จะมีการเตือนลูกค้าว่า “ มีคนกำลังแฮ็กนะ คุณต้องทำการจัดการกับอะไรซักอย่างหนึ่ง”

ด้วยปรัชญาของ Information Security แล้ว ไม่มีความปลอดภัยอะไร 100% อยู่แล้ว

ส่วน Coincheck เนี่ยจริง ๆ ก็คือ ทางพวกทีมงาน Coincheck ก็เคยมาคุยกับพวกเรานะ CEO ของพวกเขาเคยบินมาที่นี่ก่อนที่จะเกิดการแฮ็ก จริง ๆ เรามองว่าคือ ณ ตอนนั้น เราวางแผนที่จะเป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แตตั้งแต่เกิดการแฮ็ก เราก็คิดว่าจะลองดูก่อนอีกทีนึงว่าจะร่วมหุ้นส่วนกันอย่างไรดี

แต่ทาง NEM Foundation ก็ได้ออกมาบอกแล้วว่าในกรณีแฮ็กนี้ ได้เกิดจากการที่ทาง Coincheck เองเนี่ย เอาเหรียญ NEM ไปไว้ใน Hot Wallet มากเกินไป ซึ่งในปกติตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยเนี่ย เขาจะไม่ทำ แต่ที่ Coincheck ทำเพราะว่า…ถ้าผมไม่ได้เข้าใจผิดนะครับ… เขาต้องการที่จะให้มี usability (ความพร้อทในการใช้งาน) สำหรับผู้ใช้เพื่อให้สามารถโอนเงินออกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ

 

ทีมงาน Siam Blockchain:

Coincheck อ้างว่าการเก็บใน Cold Wallet นั้น “ยากเกินไป”… จริงไหมครับ?

คุณปรมินทร์:

ใช่ครับ คือมันยากเกินไป แต่ต้องบอกว่า ทางผมก็ได้ศึกษาผ่านเรื่อง Security แล้ว ต่อให้มันยาก เราก็ต้องใช้ ต่อให้ลูกค้าจะตำหนิว่าพวกเราช้า แต่พวกเราก็เขียนอยู่ใน Terms of Service แล้วครับ ว่ามันอาจจะช้านะ มันไม่คุ้มที่เราจะต้องไปเสี่ยงให้ลูกค้า เพื่อให้เราจะได้ไม่โดนบ่น แต่ต่อมาพวกเราจะโดนแฮ็ก

เหรียญ JFin Coin จะเปิดจำหน่ายเป็น Pre-Sale ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป โดยจะจำหน่ายผ่านเว็บ TDAX เพียงเท่านั้น สามารถศึกษาข้อมูลจาก White Paper ได้แล้วที่นี่

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น