<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

NFT Geniuses EP1: พี่ติ๊ก ชิโร่ จากนักร้องในตำนาน สู่ศิลปิน NFT ที่ขายงานได้หลักแสนบาท

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงบนโลกของเราเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว “การปรับตัว” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เฉกเช่นเดียวกับผลงานศิลปะในรูปแบบดิจิทัล หรือ NFT ที่ในปีนี้มาพร้อมกับกระแสหลัก Cryptocurrency อย่างร้อนแรง ส่งผลให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานมากมายมีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอผลงานไปสู่โลกอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น

วันนี้ทาง Siam Blockchain ขอนำเสนอสกู๊ปพิเศษที่มีชื่อว่า NFT Geniuses ในครั้งนี้เป็น Episode แรก

ทางเราได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังแห่งยุค 90’s อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะที่ใครหลายคนรู้จักเป็นอย่างดี “ติ๊ก ชิโร่” ในการถ่ายทอดเรื่องราวผลงานศิลปะในรูปแบบดิจิทัลและโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นผลงานศิลปะของ “ติ๊ก ชิโร่” ในรูปแบบดิจิทัล หรือ NFT 

“ติ๊ก ชิโร่” หากเอ่ยชื่อนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักกับศิลปินไทยผู้มากความสามารถทางด้านดนตรีและศิลปะที่ได้ผันตัวเข้ามาอยู่ในวงการศิลปะดิจิทัลหรือ NFT ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ติ๊ก ชิโร่ ก้าวเข้ามาสู่โลกของ NFT นั่นก็คือคำชักชวนจากเจ้าพ่อไอทีอย่างคุณหนุ่ย พงศ์สุข หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “หนุ่ย แบไต๋” 

“พี่ติ๊กรู้จัก NFT จากหนุ่ย พงศ์สุขครับ เป็นน้องรักที่อยู่ในวงการไอที ด้วยความสนิทใกล้ชิดกันพี่ติ๊กให้ชื่อเขาว่า หนุ่ย ชิโร่ เลยครับ (หัวเราะ) … พอหนุ่ยชวนเข้าไปมีส่วนร่วมกับ NFT ก็เลยรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ”

“แม้กระทั่งติ๊ก ชิโร่เอง ก็ยังรู้สึกเหมือนกันนะครับว่า Canvas หรือว่าผ้าใบ และสีต่าง ๆ มันมีอายุ แต่พอเป็นเรื่องของ NFT หรือดิจิทัลเนี่ยมันไม่มีวันหมดอายุ ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันสอดคล้องกับบางสิ่งบางอย่างที่เรากำลังจะเริ่ม เป็นเส้นทางใหม่ ๆ เหมือนกับช่วงที่เราเคยใช้เกวียน รถม้า รถไอน้ำ แต่วันนี้มันเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้ว”

พี่ติ๊ก ชิโร่ยังกล่าวต่ออีกว่า “ที่ชอบมาก ๆ ก็คือการที่จะทำให้คนที่เป็นเจ้าของผลงาน คนที่ซื้อ คนที่จะได้รับผลประโยชน์ต่อไป มีโอกาสที่จะเปิดให้ทุกคนได้เข้ามารับชม แม้กระทั่งอยู่กรีนแลนด์ สวาฮิลี หรือเกาะกาลาปากอสก็สามารถที่จะเข้ามาดูภาพหรือเป็นเจ้าของได้”

โดยหากย้อนกลับไปเมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดแกลลอรี สร้างสูจิบัตร เลี้ยงอาหารเครื่องดื่ม โชว์การแสดง แต่สำหรับ NFT นั้นมันไม่จำเป็นเลย เพียงแค่มีความรู้และความรักในศิลปะก็จะสามารถจะเป็นเจ้าของได้ในทุก ๆ ที่

3 ผลงานเปิดตัว NFT ครั้งแรกมูลค่ารวมกว่า 1 แสนบาท

นอกจากนี้พี่ติ๊ก ชิโร่ได้เล่าถึงการนำภาพศิลปะของตนเองเข้าสู่ NFT โดยการใช้กล้องที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้ได้ความคมชัดของภาพถ่าย (ซึ่งมีผลต่อผลต่องานศิลปะ) ถ่ายภาพศิลปะของเราแล้วอัปโหลดขึ้นบนเว็บไซต์แพลตฟอร์มการซื้อขายผลงาน NFT อย่าง Opensea โดยมีการเปิดตัวผลงานครั้งแรกของพี่ติ๊ก ชิโร่ https://opensea.io/TIK_SHIRO ให้ได้ร่วมประมูลด้วยกันถึง 3 ชิ้นงานได้แก่ Swim in Tsunami001, Fossil002 และ LifeStory003 ด้วยเทคนิค Ink on Paper และ Acrylic on Canvas

โดยแต่ละชิ้นมีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานต่างกันไป ตัวอย่างเช่นในผลงานชิ้นแรกที่เป็นผลงาน “Swin in Tsunami001” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเหตุการสึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ของประเทศไทยในปี 2004 ด้วยการใช้เทคนิค Ink on Paper ในการเล่าเรื่องราว

ส่วนในผลงานชิ้นที่สอง “Fossi002l” เป็นการใช้เทคนิค Acrylic on Canvas ถ่ายทอด “คำ” ที่อยู่ภายในใจออกมาเป็นงานอาร์ตเวิร์ค โดยเราจะเห็นได้จากคำภาษาไทยที่อยู่ในผลงาน

และชิ้นสุดท้าย “LifeStory003” ที่ใช้เทคนิค Ink on Paper  เช่นเดียวกันกับผลงานแรกเป็นการใช้ความรู้สึกภายในถ่ายทอดออกมาผ่านการเคลื่อนไหวของหมึกลงบนกระดาษ มีการสร้างเรื่องราวผ่านการเคลื่อนไหวของหมึก

โดยผลงานทั้ง 3 ชิ้นก็ได้เสร็จสิ้นการประมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้วมีมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท ซึ่งพี่ติ๊ก ชิโร่ได้ใส่จิตวิญญาณและความตั้งใจที่จะนำเสนอผลงานแต่ละชิ้นผ่านทางศิลปะ และการนำผลงานศิลปะเหล่านี้เข้าสู่ NFT ก็จะเป็นเหมือนการเก็บรักษาผลงานอีกช่องทางหนึ่งที่ทุกคนยังสามารถเข้าไปชมผลงานกันได้อีกด้วย

มุมมองต่อวงการ NFT ในปัจจุบันและอนาคต 

พี่ติ๊ก ชิโร่มองว่าวงการ NFT เปิดโอกาสให้ศิลปินในไทยและทั่วโลกได้มีโอกาสมากขึ้นที่จะนำเสนอผลงาน NFT ของตัวเอง ซึ่งมันอาจเป็นอนาคตที่ทุกคนจะต้องติดตามไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศก็ตาม และมันจะเข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะ ทำให้เราต้องอยู่กับมันไปอีกนานพอสมควร

“ผมยังจำโลกของ Analog และโลกของ Digital ได้อยู่เลยครับ Analog มันก็จะมีคุณค่าในอีกแบบหนึ่ง ส่วน Digital มันก็จะกลายเป็นวิถีของคน New Era เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของ NFT เป็นเพียงก้าวแรก ๆ ในการเริ่มต้น ต่อไปในอนาคตมันอาจจะสามารถทำได้ดีกว่านี้”

“หลาย ๆ คนได้เห็นผลงานศิลปะของผม หลายคนยังอยู่ในโลกยุคเก่าอยู่ ถ้าลองเข้าไปอยู่ใน NFT แล้ว อาจจะมีโอกาสมากขึ้นก็ได้”

“ผมดีใจทุกครั้งที่มีการก้าวเดินในแง่มุมของการทำให้ทุกคนสนใจศิลปะ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าสถานการณ์ Covid-19 ทำให้การ Work From Home เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น การทำงานที่บ้านก็อาจส่งผลให้ตลาดงานศิลปะเหมือนยุคสมัยก่อนลดน้อยถอยลงไปตามวิถีของมัน”

แต่อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยี การใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือจากการทำงานจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้โอกาสในการนำเสนอผลงานศิลปะของเรากระจายไปยังทั่วโลก ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรติดตามและอยู่กับโลกยุคใหม่ให้ได้

สุดท้ายพี่ติ๊ก ชิโร่ได้ฝากถึงทุกคนในการหันมาสนใจในผลงานศิลปะดิจิทัล NFT รวมถึงผลงานศิลปะของพี่ติ๊ก ชิโร่ที่เป็นเสมือนอีกหนึ่งบทบาทภายหลังจากจบการศึกษาทางด้านศิลปะมาอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งนอกจากด้านดนตรีแล้วในขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งงานด้านศิลปะที่ยังเป็นจิตวิญญาณส่วนหนึ่งที่พี่ติ๊ก ชิโร่ได้นำความรู้ความสามารถมาใช้อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อโอกาสและเวลามาถึงก็พร้อมที่จะนำเสนอให้ทุกคนได้เห็นในอีกหนึ่งมิติ ในความเป็นศิลปินของ “ติ๊ก ชิโร่”