<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

โปรโตคอลคืออะไร ? ทำความรู้จักพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตจากอดีตสู่ยุคของ Decentralized 

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

บิตคอยน์ปรากฏขึ้นบนโลกเป็นครั้งแรกในรูปแบบของเอกสาร White paper ที่เขียนโดยบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto โดย White paper ดังกล่าวถูกโพสต์ลงในเว็บบอร์ดแบบเข้ารหัสเมื่อปี 2008 โดยมีเนื้อหาเป็นโครงร่างของเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีชื่อว่าบล็อกเชน

บล็อกเชนจะทำงานคล้ายกับบัญชีแยกประเภท กล่าวคือ บล็อกเชนจะติดตามธุรกรรมบิตคอยน์ทุกรายการ และทำการตรวจสอบในตัวเองด้วย ซึ่งการตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยนั้นจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจากพลังการคำนวณของทั้งเครือข่าย โดยในเครือข่ายของบิตคอยน์จะมี “นักขุด” ที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทุ่มเททำงานด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยให้เครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งนักขุดเหล่านี้จะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นบิตคอยน์

เมื่อกฎเกณฑ์ทั้งหมดนี้ถูกรวมเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เกิดเป็นโปรโตคอลบิตคอยน์ขึ้นมา  ดังนั้นในวันนี้ทางสยามบล็อกเชนจึงจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันว่าโปรโตคอลคืออะไร

โปรโตคอลคืออะไร

โปรโตคอลคือ กฎพื้นฐานสำหรับคริปโตที่อนุญาตให้ใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างคอมพิวเตอร์  โดยกฎเหล่านี้คือ ตัวกำหนดโครงสร้างของบล็อกเชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบ decentralized ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย

แน่นอนว่าโปรโตคอลไม่ได้มีไว้สำหรับคริปโตเท่านั้น แต่ยังเป็นกฎพื้นฐานของวิธีการทำงานของอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เนื่องจากโปรโตคอลเป็นสิ่งที่ควบคุมการส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่อง

ยกตัวอย่างเช่นลิงก์ URL ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้จะสังเกตได้ว่า URL ขึ้นอยู่กับโปรโตคอลหลายชุดด้วยกัน เนื่องจาก HTTP ที่เราเห็นในทุก URL นั้นย่อมาจาก “hypertext transfer protocol” (โปรโตคอลการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต)

โปรโตคอลบิตคอยน์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตบนอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้อย่างปลอดภัย หลังจากนั้นจึงมีเหรียญคริปโตรูปแบบใหม่ ๆ นับพันตัวที่มีโปรโตคอลของตนเองเกิดขึ้นตามมา และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความก้าวหน้าครั้งสำคัญในยุคของการเข้ารหัส รวมถึงการคำนวณแบบ decentralized ก็ได้สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับโปรโตคอลบล็อกเชนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โปรโตคอลสำคัญอย่างไร

โปรโตคอลช่วยให้สามารถกระจายอำนาจสกุลเงินดิจิทัลผ่านเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งหมายความว่า คริปโตจะถูกกระจายไปทั่วเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีศูนย์กลางหรือหน่วยงานกลาง

ความก้าวหน้าที่สำคัญของโปรโตคอลบิตคอยน์คือ การสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถใช้เทรดหรือใช้จ่ายได้ โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้นไม่ต้องมานั่งกังวลว่าเงินดังกล่าวจะถูกใช้ไปแล้วหรือไม่ (ซึ่งเรียกกันว่าเป็นปัญหาการใช้จ่ายสองต่อ เช่น คนที่เคยซื้อบัตรคอนเสิร์ตจากคนแปลกหน้า แล้วพบว่ามีการสแกนใช้ตั๋วนั้นไปแล้ว)

นับตั้งแต่โปรโตคอลบิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นมา ก็ได้มีการพัฒนาชุดกฎต่าง ๆ ตามมาเพื่อให้ครอบคลุมฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย โดยมีสกุลเงินดิจิทัลหลายพันเหรียญที่มีโปรโตคอลเป็นของตนเอง เช่น โปรโตคอล Ethereum ที่ได้รับการออกแบบตาม “Smart Contract” ซึ่งธุรกรรมหรือหรือสัญญาจะดำเนินการโดยอัตโนมัติเมื่อเข้าเกณฑ์บางอย่าง

ปัจจุบันมีชุดโปรโตคอลใหม่ ๆ ที่ทำงานบนบล็อกเชน Ethereum เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบ decentralized ดำเนินการทุกอย่างได้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่การให้กู้ยืมเงิน การออมเงิน ไปจนถึงการประกันภัย

ทั้งนี้ Ethereum ไม่ใช่โปรโตคอล Smart Contract เพียงโปรโตคอลเดียวในอุตสาหกรรมคริปโต แต่ยังมีโปรโตคอลบล็อกเชนใหม่ ๆ เช่น Polkadot, Solana และ Cardano ที่เกิดมาเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมแห่งนี้เช่นกัน

ที่มา: coinbase