<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

อนุกรรมการเงินดิจิทัลเคาะ 3 ทางเลือกจ่อตัดสิทธิ์ “คนรวย” ชวด 10,000 บาท 

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2  ว่า ที่ประชุมมีความเห็น ได้มีข้อสรุปในเรื่องรัศมีการใช้เงิน โดยให้สามารถใช้ได้ ภายในอำเภอ จากเดิมแค่รัศมี 4 กิโลเมตร เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอรองรับการใช้จ่าย 

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างในเงื่อนไขอีกหลายประเด็นที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อาทิ เรื่องกลุ่มที่จะได้รับสิทธิ โดยมาตรการนี้มีข้อเสนอเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องการให้คนเข้าร่วมจำนวนมากๆ อีกข้อเสนอ ก็มีข้อเสนอให้เอาคนรวยออก ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ เพราะรวยแล้วจะไม่นำเงินนี้ไปใช้ในลักษณะของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นำเงินไปออม ดังนั้นคณะทำงานก็ต้องพยายามหาคำจำกัดความ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการ ได้เสนอแนวทางให้คณะกรรมการตัดสินใจรวม 3 ทางเลือก คือ 

  1. ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ ที่มีราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท  
  2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
  3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

“เมื่อมีความเห็นต่าง เป็นหน้าที่ คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ คณะอนุกรรมการ จะไปดูแต่ละกลุ่มครอบคลุมเท่าไหร่ และเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจรายละเอียด”นาย จุลพันธ์ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการฯ เป็นเพียงผู้รวบรวมและนำเสนอแนวทาง เพื่อนำเสนอ คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พิจารณา ภายในสัปดาห์หน้า  

ใน ส่วนของแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหลากหลายแนวทาง ทั้งการใช้งบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินกู้ และการใช้กลไกอื่น ๆ เช่น มาตรการกึ่งการคลัง หรือ เงินนอกงบประมาณ แต่โจทย์ของฝ่ายนโยบายที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น คือการใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก กลไกดำเนินการ คือ ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งมีข้อเสนอให้ดำเนินการโดยใช้งบผูกพัน เช่น หากโครงการ 4 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบผูกพัน 4 ปี โดยเบิกจ่ายปีละ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นการขึ้นเงินของร้านค้าก็อาจจะต้องชะลอไป ซึ่งอาจต้องมีการกำหนดในเงื่อนไข ตรงนี้เป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะเสนอให้มีการพิจารณาอย่างจริงจัง 

นอกจากนี้ ในส่วนของการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนั้น ก็จะบรรจุในแนวทางที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยืนยันว่าตรงนี้จะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พรบ. วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันไม่มีเงินจากธนาคารออมสินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย 

“ยืนยันว่าจะใช้กรอบงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักเหมือนเดิมตามที่ฝ่ายนโยบายได้เคยให้โจทย์ไว้ แต่เมื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบงบประมาณปี 2567 ซึ่งอาจจะล่าช้าไปราวเดือน เม.ย. – พ.ค. 2567 ก็ยอมรับว่าโครงการแนวโน้มน่าจะดีเลย์ในระดับหนึ่งจากเดิมวันที่ 1 ก.พ. 2567 แต่ก็มีข้อดีคือ เราจะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่ อย่าเพิ่งสรุป แต่รัฐบาลจะพยายามบริหารจัดการให้ดีที่สุด” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับประเด็นการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ์  ครอบคลุมทั้ง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน ใช้จ่ายได้ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนระบบการขึ้นเงินได้ร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เงินได้นิติบุคคล และ บุคคธรรมดา

สำหรับผู้พัฒนาระบบบล็อกเชน สมาคมธนาคารได้ตกลงให้ทางธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำระบบยืนยันว่า ไม่ใช่ตัวเลข 1.2 หมื่นล้านบาทแน่นอน แต่เป็นตัวเลขที่รับได้ 

ที่มา : posttoday