<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ส่อง 3 สาเหตุ ทำไม Bitcoin ฟื้นกลับขึ้นมาแตะ $72,000 ก่อนหน้าการ Halving

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

จะเห็นได้ว่าไม่นานมานี้ราคาของ Bitcoin ได้มีการปรับตัวฟื้นขึ้นโดยอาจได้รับอิทธิพลมาจากอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายช่วยเหลือหนี้สินที่กู้ยืมเพื่อการศึกษา  และข้อจำกัดทางการค้าทั่วโลก

โดยระหว่างวันที่ 6 ถึง 8 เม.ย. ราคา Bitcoin ได้พุ่งขึ้นสูงถึง 7.6% แตะระดับสูงสุดระหว่างวัน ที่ระดับราคา $72,747 จุดประกายให้เกิดการคาดการณ์มากมายถึงปัจจัยเบื้องหลังความเคลื่อนไหวในครั้งนี้

แม้บางคนจะรีบสรุปว่า สาเหตุมาจากเงินทุนที่ไหลเข้าของกองทุน Bitcoin ETF แต่การสันนิษฐานเช่นนี้ อาจเป็นการมองข้ามแรงจูงใจที่แท้จริงของผู้ซื้อ จึงเป็นไปได้มาก ว่า ปัจจัยเศรษฐกิจระดับมหภาคต่างๆ นั้นอาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยับตัวของราคา Bitcoin ในช่วงนี้

Stablecoin ของ Ethena อยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นของ Bitcoin?

เมื่อไม่นานมานี้ Ethena stablecoin (USDCe) ได้นำเงินจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปซื้อ Bitcoin เพื่อใช้เป็นหลักประกัน โดยมีหลายคนวิเคราะห์ว่า นี่คือสาเหตุของการพุ่งสูงขึ้นของ Bitcoin แต่นั่นอาจฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล 

เนื่องจากหากย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ถึงเหตุการณ์ที่บริษัท MicroStrategy เข้าซื้อ Bitcoin จำนวน 9,245 BTC ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งราคา Bitcoin ที่ร่วงลงไปกว่า 13.7% ภายใน 6 วันต่อมาได้

เมื่อพิจารณาจากปริมาณการซื้อขาย Bitcoin แบบสปอตต่อวันที่เกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เงินทุนไหลเข้าเพียงเล็กน้อยขนาดนี้ย่อมไม่ส่งผลอะไรมากนัก

นักลงทุนมักประเมิน ความคาดหวังต่อสภาพเศรษฐกิจต่ำไป ในช่วงเวลาที่มีสภาพคล่องสูงขึ้น และนโยบายการเงินที่กระตุ้นการบริโภค และการเติบโตของเศรษฐกิจ มักส่งผลดีต่อ สินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด แนวโน้มนี้จะยิ่งชัดเจนในช่วง เงินเฟ้อที่รุนแรง เมื่อค่าจ้าง และราคาสินค้า ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณเงินที่เพิ่มมากขึ้น 

 Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgan Chase เผยในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ที่อ่อนแอ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อฝังรากลึกและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มุมมองนี้ช่วยอธิบายบางส่วนที่ว่า ทำไมกองทุน Gold ETF ในจีน ถึงซื้อขายกันที่ราคาพรีเมียม (สูงกว่าปกติ) เนื่องจากนักลงทุนเตรียมรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ท่ามกลางสถานการณ์หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่กำลังย่ำแย่

Eric Balcunhas นักวิเคราะห์ ETF อาวุโสของ Bloomberg ตั้งข้อสังเกตว่านักลงทุนชาวจีน “ต้องการแบ่งเงินลุงทุนเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นของประเทศของตน” ซึ่งส่งผลให้ ETF ทองคำในประเทศจีน มีการซื้อขายที่สูงกว่ามูลค่าปกติถึง 30% 

นอกจากนั้นการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังตึงเครียดจากการอนุมัติงบประมาณ มูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม และข้อเสนอของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะยกหนี้การศึกษาสูงสุดถึง 20,000 ดอลลาร์สำหรับผู้กู้ยืม 23 ล้านคน โดยไม่คำนึงถึงรายได้ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลังของประเทศรุนแรงขึ้น

Bitcoin จะสามารถรับมือสภาวะเศรษฐกิจขาลงได้หรือไม่?

ผู้คนอาจจะแย้งว่า ปัจจัยที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อ Bitcoin โดยตรง เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้ประชาชนมีเงินเหลือใช้ลดลง และหนี้ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็น่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่า นักลงทุนจะตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร ยังเป็นเรื่องยาก เพราะความสัมพันธ์ของ Bitcoin กับสินทรัพย์แบบดั้งเดิม อย่าง หุ้น และทองคำ มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจกระตุ้นให้เกิดความสนใจในทองคำและ Bitcoin เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ราคาทองคำทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,354 ดอลลาร์ ในวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบสี่เดือนที่ 4.79% โดยมูลค่าของทองคำมีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อนักลงทุนชื่นชอบผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้หายไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงล่าสุด

เมื่อวันที่ 8 เมษายน  Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่าฝ่ายบริหารกำลังพิจารณาที่จะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์พลังงานของประเทศจีน ซึ่งรวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และยานพาหนะไฟฟ้า Yellen ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าประเทศอื่นๆ อาจพิจารณาใช้ข้อจำกัดทางการค้ากับจีน ตามการรายงานจากสำนักข่าว CNBC

ในสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ ราคา Bitcoin ที่พุ่งทะยานแตะ $72,000 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. อาจจะเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต้องการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ และผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ  มากกว่าที่จะเกิดจากเงินลงทุนใน Bitcoin ที่เข้ามาในระยะเวลาสั้นๆ ของนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ที่มา:cointelegraph