<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

[รีวิว] กระเป๋าเก็บ Cryptocurrency แบบ Hardware ยอดนิยม Ledger Nano S

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

มันเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ความปลอดภัย” คือสิ่งที่มนุษย์ทุกๆคนลึกๆแล้วต้องการมันอยู่ในจิตใจของพวกเขา ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากความปลอดภัยทางชีวิตที่มีมาเป็นอันดับแรก และเมื่อพวกเขามีสิ่งๆนั้นแล้ว ความปลอดภัยด้านอื่นๆก็จะตามมา เช่นทรัพย์สินที่พวกเขาถือครองอยู่เป็นต้น

และมันก็ไม่อาจสามารถที่จะปฏิเสธได้เช่นกันว่าความปลอดภัยทางทรัพย์สินถือเป็นสิ่งที่ถูกดีเบตกันมาอย่างช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ ว่า “คุณควรจะเก็บทรัพย์สินของคุณไว้ที่ไหน” ถึงจะปลอดภัยจากการถูกขโมย ยกตัวอย่างเช่นการเก็บทองคำหรือเงินสดของคุณไว้ในตู้เซฟและเข้ารหัสที่บ้าน หรือคนที่ต้องการความปลอดภัยยิ่งกว่านั้นก็อาจจะบินไปที่สวิสเซอร์แลนด์เพื่อเรียกร้อง “ความปลอดภัยที่สูงกว่า” จากธนาคาร Swiss Bank แต่นั่นก็อาจจะดูเกินไปสำหรับคนธรรมดาหลายๆคน

ทว่าคำถามที่ตามมาคือปลอดภัยแค่ไหนถึงจะพอล่ะ? ในโลกของ Cryptocurrency ที่ผู้ใช้งาน Bitcoin, Litecoin หรือเหรียญอื่นๆนั้น ด้วยความที่สกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้ทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยในระดับ “จับต้องไม่ได้” ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้โจรที่ขึ้นบ้านของคุณในยามดึกต้องงุนงงเพราะเขาไม่เจอทองและเงินสดที่คุณซ่อนไว้เท่านั้น แต่นั่นยังหมายถึงการที่ทางรัฐบาลหรือตำรวจจะไม่มีวันรู้ตัวเลขของเหรียญเหล่านี้ที่คุณถืออยู่เลยแม้แต่น้อย (เว้นแต่ว่าคุณจะซื้อมันมาจากเว็บเทรดที่มี KYC) สำหรับบางคนความปลอดภัยแค่นั้นอาจจะเพียงพอ แต่ทว่าสำหรับบางคนที่มองว่าการเก็บเหรียญคริปโตของพวกเขาไว้บนเว็บเทรด หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือบนแอพกระเป๋าบนโทรศัพท์มือถือนั้นอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งในความปลอดภัยถึงระดับขั้นสูงสุดนั้นเองส่งผลให้พวกเขาเหล่านั้นต้องสร้าง Hardware wallet ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการนั้น และวันนี้ทางสยามบล็อกเชนก็ได้นำมันมารีวิวให้กับผู้อ่านได้เห็นกันแล้ว นั่นก็คือ Ledger Nano S

แกะกล่อง

ภายในกล่องของ Ledger Nano S นั้นเมื่อเปิดออกมาจะประกอบไปด้วยตัวกระเป๋า, ใบคู่มือและ recovery phrase สำหรับเขียน (ซึ่งเดี๋ยวเราจะบอกอีกทีว่าใช้ทำอะไร), สาย Micro USB, สายคล้องคอและพวงกุญแจ

ดีไซน์

กระเป๋า Ledger Nano S นั้นมีขนาดเล็กพอสมควร และมีหน้าตาที่เหมือนกับ USB Flash Drive ของค่าย Kingston ที่ใช้เก็บข้อมูลธรรมดาทั่วๆไป เพียงแต่มันไม่มีหัวสำหรับเสียบ USB 3.0 ที่อาจจะทำให้คนบางคนอาจจะสับสนนำเจ้าตัวนี้ไปใช้แทน Flash Drive ทว่า Nano S นั้นจะมีรูเชื่อมต่อกับ micro USB ขนาดเล็กแบบในรูปด้านล่างนี้

ตัวกระเป๋าจะทำจากพลาสติกสีดำ และตรงส่วนฝาครอบแบบหมุนได้ล็อกติดอยู่กับตัวพลาสติก ตรงตัวฝาครอบจะเป็นอลูมิเนียม มีโลโก้ของ Ledger ฝังอยู่ ในขณะที่อีกด้านจะมีภาษาละตินคำว่า vires in numeris ที่แปลเป็นไทยว่า “ความแข็งแกร่งที่มาพร้อมกับจำนวนมหาศาล” (strength in numbers) ซึ่งถือเป็นคอนเซปของ Bitcoin มาช้านานนับตั้งแต่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2009

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

เมื่อหมุนฝาครอบเปิดออกจะแผยให้เห็นถึงหน้าจอ LED panel ขนาดเล็กตรงกลาง ทางด้านบนจะมีปุ่มสำหรับใช้เลื่อนและเลือกคำสั่งบนหน้าจอ

เทคโนโลยี

โดยอ้างอิงจากทาง Ledger นั้น พวกเขาเคลมว่า Nano S พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี dual chip architecture (ST31/STM32, ระดับใบรับรอง: CC EAL5+) อีกทั้งยังมีตัว Firmware ที่ผ่านการรับรองโดยขั้นตอนการยืนยันผ่านการเข้ารหัส cryptographic รวมถึงระบบที่ทางผู้ใช้งานสามารถจะกำหนด Pin Code แบบระดับตัวเลข 4-8 หลักที่จะถูกถามขึ้นเพื่อทำการยืนยันทุกครั้งที่เสียบตัวฮาร์ดแวร์เข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าระบบเหล่านี้มีความปลอดภัยสูงมากจากการพยายามแฮคทางด้าน hardware และ software

การใช้งาน

ระบบกระเป๋าของ Nano S นั้นจะเป็นการใช้งานควบคู่กับเว็บแอพบนบราวเซอร์ Chrome บนคอมพิวเตอร์ ดังนั้นก่อนการใช้งาน ผู้ใช้ควรจะมี Chrome อยู่บนเครื่องแล้ว หลังจากนั้นก็เข้าไปที่เว็บของ LedgerWallet เพื่อทำการเลือกแอพเพื่อดาวน์โหลด โดยในการรีวิวนี้เราจะทำการโหลดตัว Ledger Wallet Bitcoin & Altcoins, Ledger Wallet Ethereum และ Ledger Manager

เมื่อเข้ามาที่หน้า Chrome App Store ก็ให้ทำการกดติดตั้ง เมื่อติดตั้งเสร็จเราจะสามารถเปิดแอพนั้นขึ้นมาได้

แอพตัวนี้จะรองรับการใช้งาน Bitcoin และเหรียญ Altcoin อื่นๆที่ทาง LedgerWallet ได้เคลมไว้บนเว็บ ส่วนในกรณีของ Ethereum/Ethereum Classic และ Ripple นั้น ผู้ใช้งานจะต้องโหลดแอพแยกต่างหาก

หลังจากนั้นให้เสียบ Nano S เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ หน้าจอก็จะสว่างขึ้นเป็นสีฟ้า และมีตัวหนังสือกระพริบเป็นภาษาอังกฤษเขียนว่า “Welcome” และบอกให้กดปุ่มสองปุ่มพร้อมกันหากต้องการจะเริ่มต้น

ปุ่มสองปุ่มของ Nano S จะทำงานในลักษณะแบบนี้

  • กดปุ่มซ้าย เลื่อนไปทางด้านซ้าย
  • กดปุ่มขวา เลื่อนไปทางด้านขวา
  • กดสองปุ่มพร้อมกัน เป็นการตอบตกลง

เริ่มติดตั้ง

เมื่อกดสองปุ่มพร้อมกันเพื่อเริ่มต้นแล้ว เครื่องก็จะบอกให้เราใส่ Pin ซึ่งสามารถใส่ขั้นต่ำได้ 4 ตัว และขั้นสูงสุด 8 ตัวตามความต้องการของผู้ใช้งาน

เมื่อตั้ง Pin เสร็จแล้ว ทีนี้ให้คุณหยิบปากกาและแผ่น My recovery phrase ที่ทาง Ledger แถมให้มา โดยตัวเครื่องจะบอกให้เราเขียน recovery phrase ลงบนกระดาษที่ให้มา โดยจะมีทั้งหมด 24 คำ

Recovery phrase นั้นถือเป็น “สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเก็บ Cryptocurrency” ของคุณ โปรดเก็บรักษามันไว้เยี่ยงชีพ อย่าให้ใครเห็นและอย่าทำหาย เนื่องจากมันจะถูกใช้เป็นตัวกู้เหรียญคริปโตของคุณกลับคืนมาในกรณีที่คุณทำกระเป๋าหาย สาเหตุที่ต้องเขียนลงบนกระดาษก็เพราะว่ามันจะได้ถูกตัดการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เนตเพื่อป้องกันการแฮคชองคนอื่น โดยลักษณะของ recovery phrase นั้นจะเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษแบบสุ่ม ซึ่งทาง Nano S จะมีมาให้ทั้งหมด 24 คำด้วยกัน และแต่ละคนจะได้ลักษณะการเรียงคำตามลำดับที่ไม่เหมือนกัน

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

เมื่อทำการเขียนเสร็จแล้ว ให้กดปุ่มสองปุ่มพร้อมกันเพื่อไปต่อ หลังจากนั้นเครื่องจะบอกให้เรายืนยัน recovery phrase ด้วยการเลือกคำตามลำดับที่เราเขียนไว้บนกระดาษ โปรดเลือกให้ถูกต้อง (เช่นมีเลขสอง ก็แปลว่าคำที่สอง ให้เราเช็คบนกระดาษที่เราเขียนไว้ว่าคำที่สองคือคำว่าอะไร) ใช้ปุ่มสองปุ่มซ้ายขวากดเพื่อเลือกคำ และกดสองปุ่มพร้อมกันเพื่อคอนเฟิร์ม เมื่อคอนเฟิร์มเสร็จก็จะมีตัวหนังสือบอกว่ากระเป๋าของคุณพร้อมใช้งาน

หลังจากนั้นเราก็จะเข้ามาอยู่บนหน้าเมนูหลัก ซึ่งจะมีให้เลือกเหรียญที่เราต้องการจะเปิดกระเป๋า สำหรับ hardware wallet นั้นจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็น “กุญแจเปิดกระเป๋า”​ ที่ช่วยเก็บ private key ของผู้ใช้งาน ไม่ได้เป็นการนำเหรียญมาเก็บไว้บนกระเป๋าแบบที่หลายๆคนเข้าใจผิดแต่อย่างใด

ทดสอบโอน Bitcoin เข้าออก

ในรีวิวนี้ ทางเราจะเริ่มทำการสาธิตการโอน Bitcoin เข้ามาเก็บไว้ในกระเป๋าดังกล่าวนี้ก่อน ขั้นแรก เราจะทำการเลือก Bitcoin โดยการกดปุ่มสองปุ่มบน Nano S

หลังจากนั้นแอพกระเป๋าบน Chrome ก็จะทำงานทันที โดยในขั้นตอนการติดตั้งตอนแรกนั้น ทางแอพจะถามเราว่าเราต้องการที่จะเลือกเก็บ Bitcoin บน Chain ไหน ซึ่งจะมีตัวเลือกให้เลือกทั้งหมดสี่ตัวเลือกด้วยกันคือ

  1. Bitcoin – ตัว chain หลักในปัจจุบัน สำหรับใช้เก็บ Bitcoin แบบต้นตำรับที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
  2. Bitcoin Cash – ตัว chain ที่ถูก hard fork แยกตัวออกไปกลายเป็นเหรียญใหม่นามว่า Bitcoin Cash
  3. User-activated soft fork (UASF) – ตัว chain ของ UASF
  4. SegWit2x – ตัว chain ของ SegWit2x ที่จะมีการ hard fork ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อเพิ่มขนาดบล็อกเป็น 2MB

สำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไปนั้น ให้เลือก Bitcoin ไปก่อน หลังจากนั้นเราก็จะเข้ามาในหน้าต่างให้เลือกอีกตัวที่จะมี Legacy และ SegWit ให้เลือก สำหรับผู้ใช้งานมือใหม่ที่ยังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร ทางสยามบล็อกเชนขอให้อ่านบทความนี้ก่อน แต่ถ้าไม่อยากอ่าน ก็ให้กดเลือก SegWit ไปเลย

ซึ่งตัว SegWit นี้จะถือเป็นการรองรับโค้ดตัวช่วยในการ scaling ที่เพิ่งติดตั้งไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยมันจะช่วยทำให้การโอนระหว่าง address ที่ใช้ SegWit ด้วยกันมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากๆ อีกทั้งยังรอคอยการรองรับ Lightning Network ที่จะมีขึ้นในอนาคตที่จะถึงนี้อีกด้วย

เมื่อเลือก SegWit แล้วก็จะเข้ามาในหน้าเมนูหลักของแอพกระเป๋า ซึ่งตัวเลือกจะมีดังนี้

  • My Account – หน้าต่างหลัก
  • Send – ใช้สำหรับส่ง Bitcoin
  • Receive – ใช้สำหรับรับ Bitcoin
  • Settings – ใช้สำหรับตั้งค่า

ทางเราได้ทำการตั้งค่าให้สกุลเงินเป็นเงินบาทแบบในรูปด้านล่างนี้

หลังจากนั้นเราทำการทดสอบส่ง Bitcoin จากเว็บ Bx ซึ่งวิธีการรับ Bitcoin จาก Bx ก็ทำได้ง่ายๆ ขึ้นแรกให้กดปุ่ม Receive บนกระเป๋า LedgerWallet ก่อน จากนั้นก็ให้ก็อป Address หลังจากนั้นก็เข้าไปที่หน้าถอนเงินบน Bx จากนั้นก็ให้วาง Address ที่เราก็อปมาเมื่อกี้นี้ลงไปในช่อง พร้อมใส่จำนวนเงิน และ 2-Factor ที่เราตั้งไว้ จากนั้นก็กดถอน และยืนยันอีเมล์ที่ส่งมา เท่านี้ก็เสร็จสมบูรณ์

ให้รอสักพัก Bitcoin ก็จะถูกโอนเข้ามาบนกระเป๋าของเราตามรูปภาพด้านล่าง

สำหรับการส่งนั้นก็สามารถทำได้เช่นกัน ทางสยามบล็อกเชนจะทดสอบส่ง Bitcoin กลับไปที่ Bx โดยขั้นแรกให้เราไปที่หน้าเงินฝาก หลังจากนั้นให้ก็อป address ของ Bitcoin ไว้ (ย้ำว่าเหรียญไหนก็ใช้ address นั้น ห้ามใช้มั่วเด็ดขาด) หลังจากนั้นก็เปิดหน้าต่างกระเป๋า LedgerWallet ขึ้นมา และกด Send เมื่อกดแล้วจะมีหน้าต่างขึ้นมา ให้เราวาง address ที่ก็อปมาเมื่อกี้นี้บนช่อง และใส่จำนวน Bitcoin ที่เราต้องการจะโอนลงไป เราสามารถเลือกที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมได้ตามที่ทาง LedgerWallet กำหนดมาให้ หรือเลือกที่จะใส่จำนวนค่าธรรมเนียมเองก็ทำได้เช่นกัน ในที่นี้ทางเราไม่ได้รีบมาก จึงใส่ไปแบบน้อยสุดซึ่งจะทำให้การโอนเป็นไปด้วยความช้ามากที่สุด

หลังจากนั้นให้เรากด Send และให้กลับมาดูเครื่อง Nano S บนหน้าต่างก็จะถามเราว่าต้องการส่งหรือไม่ หากไม่ต้องการให้กดปุ่มซ้าย หากต้องการคอนเฟิร์มการส่งก็ให้กดปุ่มขวา

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

เมื่อกดปุ่มขวาแล้ว บนแอพ LedgerWallet ก็จะทำการยืนยันว่าได้ทำการส่งไปแล้ว

หลังจากนั้นก็เข้ามาตรวจสอบยอดเงินเข้าบนเว็บ Bx ก็จะเห็นว่ามี Bitcoin ถูกโอนเข้ามาแล้ว

แล้วเหรียญอื่นๆล่ะ?

ตามที่ทาง LedgerWallet ได้เคลมไว้นั้น พวกเขามีการรองรับกระเป๋าเหรียญได้หลายแบบตามที่เราเขียนไว้ด้านบน ซึ่งในที่นี่เราจะทดสอบติดตั้งกระเป๋า Ethereum และ Litecoin เพื่อโอนเหรียญดังกล่าวเข้ามา

ขั้นแรกให้เปิดแอพ Ledger Manager ที่โหลดมา (ต้องปิดแอพกระเป๋าอื่นๆก่อนถึงจะเปิดได้ เพราะระบบจะอนุญาตให้เปิดได้แค่แอพเดียวต่อครั้งเท่านั้น) เมื่อเปิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเห็นเมนูเหรียญให้เลือกมากมาย ในการรีวิวนี้เราจะเลือก Litecoin

เราทำการกดติดตั้ง Litecoin โดยหลังจากกดติดตั้งแล้วนั้น บนเครื่อง Nano S ก็จะแสดงสถานะว่าถูกติดตั้งอยู่

และเมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ก็จะมีตัวเลือกให้ Litecoin ให้เลือกดังกล่าว

วิธีการใช้งานก็เหมือนเดิม เปิดแอพ Ledger Wallet Bitcoin & Altcoins ที่เราเพิ่งใช้ไปเมื่อกี้นี้ขึ้นมาอีก (อย่าลืมปิด Ledger Manager ก่อน) จากนั้นก็กดปุ่มสองปุ่มเลือก Litecoin บนเครื่อง Nano S แอพ LedgerWalet ก็จะโหลดกระเป๋า Litecoin ขึ้นมาแบบเมื่อกี้นี้ ซึ่งวิธีการใช้งานก็จะเหมือนกับของ Bitcoin เป๊ะ

ทีนี้ลองมาดู Ethereum ที่ต้องโหลดแอพแยกมา ให้เราเปิด Ledger Wallet Ethereum ที่เปิดขึ้นมาเมื่อกี้นี้ ขึ้นมา หลังจากนั้นก็ทำการกดปุ่มสองปุ่มบน Nano S เพื่อเลือก Ethereum และ หลังจากนั้นกระเป๋า Ethereum ของเราก็จะถูกเปิดขึ้นมา แม้ว่าหน้าตาของกระเป๋า ETH ตัวนี้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ลักษณะการใช้งานก็ยังเหมือนเดิมทุกประการ

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

ข้อควรระวัง

เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ใช้งาน Nano S ที่ทำการโอนเหรียญ Ethereum จากเว็บเทรดชื่อดัง Poloniex มาเข้า hardware wallet ดังกล่าวแต่ก็ประสบปัญหาล้มเหลวในการโอน และพวกเขาเคลมว่าสูญเสียเหรียญ ETH ในหลังจากนั้น ทว่าทางตัวแทนของ LedgerWallet ก็ได้ออกมาแนะนำให้แก้ปัญหาดังกล่าวนี้โดยการกลับไปใช้กระเป๋าแบบบนเว็บอย่าง MyEtherWallet แก้ขัดไปก่อน และยังไม่ได้ออกมากล่าวว่าจะแก้ไขปัญหานี้เมื่อไร

สรุป

กระเป๋า Ledger Nano S นั้นถือเป็นกระเป๋าเก็บเหรียญคริปโตที่มีความสะดวก ใช้ง่าย และความปลอดภัยที่อัพเกรดมาจากกระเป๋าแบบอื่นๆอย่างเช่นบนโทรศัพท์มือถือ และบนเว็บ ทว่าสิ่งที่ผู้ใช้งานควรพึงระวังก็คือ recovery phrase ที่ “ควรจะเก็บรักษาไว้เยี่ยงชีพ” อย่าทำหาย เพราะถ้าหายเมื่อไรแล้วล่ะก็ ควรที่จะทำการแบคอัพใหม่ในขณะที่ยังทำได้ เพราะถ้าเกิดคนอื่นๆมาเจอเข้านั้น เจาอาจจะขโมยเหรียญของคุณไปหมดได้เลยก็ได้

กระเป๋าแบบ hardware นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานจ่ายซื้อสืนค้าในชีวิตประจำวันทั่วไปแบบ hot wallet อย่างเช่นแอพบนมือถือ แต่เหมาะสำหรับใช้เพื่อเป็นตู้เซฟสำหรับเก็บเหรียญคริปโตที่มีปริมาณเยอะๆมากกว่า

สำหรับผู้ที่สนใจซื้อ Ledger Nano S สามารถกดซื้อได้ที่นี่

กระเป๋ายอดนิยมในราคาที่จับต้องได้
  • ความง่ายในการใช้งาน
  • คุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้
  • ความปลอดภัย
  • ฟีเจอร์ต่างๆ
  • การรองรับจำนวนเหรียญ
  • User Interface ของแอพที่นำมาเชื่อมต่อ
  • ราคา
  • ปัญหาและ Bug (ดาวยิ่งมากแปลว่าปัญหายิ่งน้อย)
4.2

สรุป

กระเป๋า Ledger Nano S นั้นถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกของกระเป๋าเก็บเหรียญคริปโตที่ทางสยามบล็อกเชนอยากจะขอแนะนำให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นในทางด้านของความปลอดภัย, ความง่ายและความสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งทางผู้ผลิตนั้นอาจกล่าวได้ว่าเข้าใจผู้บริโภค และติดตามสถานการณ์ของวงการคริปโตอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังที่เห็นได้จากการมีการรองรับ SegWit และ Bitcoin Cash แล้ว

ทว่าปัญหาทางด้านการโอนเหรียญ Ethereum จากเว็บเทรด Poloniex มาบนกระเป๋า Nano S ที่ทำให้เหรียญดังกล่าวล้มเหลวในการโอนและหายไปนั้นอาจจะทำให้ผู้ใช้งานบางคนต้องเบือนหน้าหนีไปจากกระเป๋าตัวนี้เลยก็ได้ ทั้งนี้ก็ต้องรอดูว่าทางนักพัฒนาจะออกมาแก้ไขปัญหานี้อย่างไรในอนาคต

Pros

  • ใช้งานง่ายมาก
  • รองรับเหรียญคริปโตเยอะมาก
  • ขนาดที่พกพาง่าย
  • ความปลอดภัยสูง

Cons

  • ราคาที่ค่อนข้างแพงสำหรับใครหลายคน
  • หน่วยเก็บความจำน้อย ทำให้เก็บเหรียญทีละหลาย ๆ เหรียญพร้อมกันไม่ได้

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น